นายอนุเทพน์ เกษา ขนส่งจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มเป้าหมาย (Focus Group) การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมทั้งทางรางและทางน้ำ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องแมกโนเลีย โรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดย นางสาวพนิดา เขียวงามดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิเคราะห์นโยบายและแผน (ด้านการวางแผนการขนส่งและจราจร) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการประชุม พร้อมด้วยนางสาวศิริรัตน์ อิฐรัตน์ หัวหน้ากลุ่มโลจิสติกส์การขนส่ง เจ้าหน้าที่สำนักแผนงาน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลา และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวข้องจากผู้เข้าร่วมประชุม Focus Group นางสาวพนิดา เขียวงามดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิเคราะห์นโบายและแผน (ด้านการวางแผนการขนส่งและจราจร) กล่าวว่า ขณะนี้การศึกษาฯ อยู่ระหว่างสำรวจและรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินศักยภาพและความต้องการขนส่งสินค้า รูปแบบและเส้นทางของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงคัดเลือกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ที่มีการขนส่งเข้าและออกจากพื้นที่แหล่งผลิตในประเทศและประตูการค้าที่สำคัญของประเทศ เชื่อมโยงไปยังพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขนส่งทางรางและทางน้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การประชุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) เป็นศูนย์กลางคมนาคม การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของภาคใต้ เชื่อมโยงการค้าชายแดนกับประเทศมาเลเซียทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ โดยมีการขนส่งทางถนนผ่านด่านพรมแดนระหว่างไทย – มาเลเซีย ได้แก่ ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ และด่านบ้านประกอบ มีท่าเรือน้ำลึกสงขลาเป็นท่าเรือหลัก และมีการขนส่งทางรางผ่านด่านพรมแดนปาดังเบซาร์ในการขนส่งสินค้า รวมถึงในอนาคตมีแผนดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงสุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ – สงขลา และช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ ตลอดจนมีแผนก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่บริเวณบ้านทุ่งงาย – บ้านพรุ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในอนาคต ซึ่งจะทำให้ระบบโลจิสติกส์มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ และสนับสนุนการค้าชายแดนให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การประชุมฯ นี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของพื้นที่ จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เพื่อที่ สนข. และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะนำข้อมูลไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ และสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป











